มะขามป้อม : สมุนไพรไฟท์เตอร์ เสริมภูมิ สู้หวัด ดูแลสุขภาพ
18 Apr, 2024 / By
mapleconsumer
มะขามป้อม : สมุนไพรไฟท์เตอร์ เสริมภูมิ สู้หวัด ดูแลสุขภาพ
รู้จักกับมะขามป้อม
มะขามป้อม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllanthus emblica L. อยู่ในวงศ์ Phyllanthaceae มีชื่อสามัญว่า Amla, Emblic myrabolan, Indian gooseberry และ Malacca tree ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 8-20 เมตร ใบเป็นรูปเรียงตรงขนานกัน ก้านใบเรียบ สีเทา โคนใบสองด้านไม่เท่ากัน ปลายใบมน ช่อดอกแตกแขนงออกที่ปลายก้านใบ ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกย่อยสีนวล ผลสดมีรูปกลม ผิวเรียบ มีเส้นพาดตามยาว 6 เส้น เมล็ดกลมสีเขียวเข้ม
องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญของมะขามป้อม
ผลและเนื้อผลของมะขามป้อม มีองค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญหลายชนิด ซึ่งเป็นทั้งกรดอินทรีย์และแทนนิน ได้แก่ Astragalin, Glucogallin, Gallic acid, Ellagic acid, Chebulagic acid, Chebulinic acid, Kaempferol และมีวิตามินซีสูง ถึงร้อยละ 2
มะขามป้อมมีประโยชน์อะไรบ้าง?
สรรพคุณของมะขามป้อมตามคัมภีร์สรรพคุณยาระบุว่า ผลอ่อนมีรสเปรี้ยวปนหวาน ทำให้ชุ่มคอ แก้ท้องผูก ส่วนผลแก่มีรสเปรี้ยว ฝาดขม ทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ และแก้ไข้ที่มีอาการของธาตุลมผิดปกติ เช่น ปวดหัวปวดกล้ามเนื้อ วิงเวียน อ่อนเพลีย ซึ่งในตำราพระโอสถพระนารายณ์ก็กล่าวถึงสรรพคุณของมะขามป้อมไว้เช่นเดียวกัน
มะขามป้อมในตำรับยาไทย
มะขามป้อมถูกใช้เป็นส่วนประกอบของตำรับยาไทยมากมาย เฉพาะในตำราการแพทย์ไทยเดิมพบว่ามีตำรับยาที่มีมะขามป้อมเป็นเครื่องยา ถึง 164 ตำรับ โดยถูกบันทึกไว้ใน 11 คัมภีร์จากทั้งหมด 13 คัมภีร์ โดยส่วนที่ใช้ คือ ผล ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นผลอ่อนหรือผลแก่ หากมีการใช้ส่วนอื่นที่ไม่ใช่ผลจะมีการระบุส่วนที่ใช้ เช่น ราก เปลือก หรือเนื้อผล เป็นต้น
มะขามป้อมกับบัญชียาจากสมุนไพรบัญชียาหลักแห่งชาติ
ปัจจุบันมะขามป้อมเป็นส่วนประกอบในยา 10 ตำรับในบัญชียาจากสมุนไพรบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นยาในกลุ่มบรรเทา อาการไอ 6 ตำรับ ได้แก่
- ยาแก้ไอผสมกานพลู
- ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม
- ยาแก้ไอผสมมะนาวดอง
- ยาแก้ไอพื้นบ้านอีสาน
- ยาตรีผลา
- ยาอำมฤควาที
นอกจากนี้มะขามป้อมยังเป็นส่วนประกอบยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต 1 ตำรับ คือ ยาหอมนวโกฐ ใช้แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียนในผู้สูงอายุและแก้ลมปลายไข้ เป็นยาบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ 1 ตำรับ คือ ยามหาจักรใหญ่ เป็นยาแก้เถาดาน ท้องผูก 1 ตำรับ คือ ยาธรณีสันฑะฆาต และยาปรับสมดุลธาตุ 1 ตำรับ คือ ยาตรีพิกัด
หลักฐานเชิงประจักษ์ การประเมินระดับหลักฐานและระดับคำแนะนำของการใช้มะขามป้อม
หมายเหตุ. หลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ผลมะขามป้อมทางการแพทย์แผนไทยและ COVID-19. จาก “หลักฐานเชิงประจักษ์ของการใช้มะขามป้อมทางการแพทย์,” โดย ภูรดา บูรณ์เจริิญ, พุทธิดา เทพนรรัตน์ และประวิทย์ อัครเสรีนนท์. 2565, Siriraj Medical Bulletin, ปีที่ 15 ฉบับที่ 3
การใช้มะขามป้อมตามองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทย
การใช้มะขามป้อมตามองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทย พบว่ามักใช้เป็นส่วนประกอบในยาตำรับสำหรับรักษาอาการไอ เจ็บคอ ท้องผูก และไข้ที่มีอาการทางลมร่วมด้วย อย่างไรก็ดีปัจจุบันได้มี ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากมะขามป้อมอย่างแพร่หลาย และมีการกล่าวอ้างสรรพคุณต่าง ๆ ซึ่งจากการประเมินหลักฐานเชิงประจักษ์ของการใช้มะขามป้อมพบว่ามะขามป้อมสามารถใช้เป็นทางเลือกในการบรรเทาอาการไอได้ ซึ่งรวมถึงอาการไอของผู้ป่วย COVID-19 ด้วย (ระดับคำแนะนำ C) ส่วนการบรรเทาอาการเจ็บคอนั้นควรใช้เป็น ยาตำรับ (ระดับคำแนะนำ B) และยังไม่แนะนำ ให้ใช้เป็นยาเดี่ยวในการแก้ท้องผูก แก้ไข้ แก้ปวด (ระดับคำแนะนำ D) สำหรับการใช้ร่วมในการรักษาโรค COVID-19 ถึงแม้จะพบว่าสามารถลดระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ แต้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมทางคลินิกต่อไป (ระดับคำแนะนำ D)
ข้อมูลความเป็นพิษของมะขามป้อม
ข้อมูลความเป็นพิษแบบเฉียบพลันและเรื้อรังของมะขามป้อม มีการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองโดยให้หนูทดลอง ได้รับสารสกัดมะขามป้อมด้วยน้ำที่มีสาร Gallic acid ร้อยละ 20 ในการทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน หนูทดลองได้รับสารสกัดมะขามป้อมความเข้มข้น 5,000 mg/kg ทางปากครั้งเดียว และการทดสอบความเป็นพิษแบบเรื้อรัง หนูทดลองได้รับสารสกัดมะขามป้อมความเข้มข้น 300, 600 และ 1,200 mg/kg เป็นเวลา 270 วัน ไม่พบรายงานความผิดปกติและการตายระหว่างการทดลอง
ที่มา: ภูรดา บูรณ์เจริิญ, พุทธิดา เทพนรรัตน์ และประวิทย์ อัครเสรีนนท์. 2565, หลักฐานเชิงประจักษ์ของการใช้มะขามป้อมทางการแพทย์. Siriraj Medical Bulletin, ปีที่ 15 ฉบับที่ 3